ความเข้าใจเที่ยวเชิงอนุรักษ์
ความเข้าใจเที่ยวเชิงอนุรักษ์
ในอดีตที่ผ่านมา มักจะมีนักท่องเที่ยวกลุ่มเล็กๆ เข้ามาเยี่ยมหมู่บ้านชาวเขาต่างๆ ซึ่งในบรรดากลุ่มนักท่องเที่ยวเหล่านี้ จะมีเพียงหนึ่งหรือสองกลุ่มเท่านั้นที่แบกกระเป๋าเดินทางเข้ามาเที่ยวหมู่บ้านด้วยตนเอง กลุ่มนี้มักพักอยู่ในหมู่บ้านสองสามวัน และในระหว่างนั้นพวกเขาจะใช้ชีวิตในหมู่บ้าน ทำงานและพูดคุยกับชาวบ้านการพักอาศัยในหมู่บ้านเปรียบเสมือนการแลกเปลี่ยนระหว่างคนสองกลุ่มกล่าวคือฝ่ายชาวบ้านจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตที่อยู่ตามที่ต่างๆ ในประเทศไทยและในประเทศอื่นๆ ในขณะที่นักท่องเที่ยวก็ได้เรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตของหมู่บ้านชาวเขา
ปัจจุบัน กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวหมู่บ้านมักจะมีขนาดใหญ่ที่เดินทางมากับรถตู้หรือรถบัส พวกเขาจะใช้เวลาอยู่ในหมู่บ้านประมาณ 20 นาที ด้วยการเดินรอบๆ หมู่บ้านชะเง้อมองเข้าไปในบ้านชาวบ้านถ่ายรูป แล้วก็จากไป ไม่มีการแลกเปลี่ยนระหว่างชาวบ้านและผู้ที่เข้ามาเที่ยว ชาวบ้านแทบจะไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลยจากการเยี่ยมเยียนในลักษณะนี้ในทางตรงกันข้ามชาวบ้านมักจะรู้สึกว่าเป็นผู้ถูกแสวงหาผลประโยชน์และไม่มีความสุขกับสภาพเช่นนี้พวกเขาได้แต่เพียงมองดูนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมหมู่บ้านของพวกเขาเท่านั้นจากการที่ทั่วโลกเกิดความตระหนักในเรื่องการอนุรักษ์และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จึงได้เกิดมีการพัฒนาลักษณะการท่องเที่ยวแบบใหม่ขึ้นมา นักเดินทางเหล่านี้ชอบที่เข้ามาท่องเที่ยวธรรมชาติและเรียนรู้ กลุ่มเหล่านี้มักสนใจที่จะเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น พบปะผู้คน สำรวจธรรมชาติและมีความกระตือรือร้นที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน เราเรียกการท่องเที่ยวในลักษณะนี้ว่า การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
ตลอดเวลาที่ผ่านมา ชาวเขามีความพยายามที่จะอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี สิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว ดังนั้นการที่ชาวบ้านให้ความสนใจเรื่องการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์นั้นจึงอาจจะเป็นการสร้างแรงเสริมและขวัญกำลังใจให้แก่ชาวบ้านในความมุมานะของพวกเขามากขึ้น เราไม่สามารถที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่องได้หากปราศจากการพัฒนาเรื่องความตระหนักระหว่างประชาชนด้วยกันเองหากเราทำงานด้วยหัวใจและความคิดของชาวบ้าน เราควรจะช่วยกระตุ้นและสนับสนุนพวกเขาในเรื่องสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ หากเราไม่เริ่มทำตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ในวันข้างหน้าเราอาจจะไม่มีอะไรเหลือไว้อีกเลย
ในระหว่างที่เที่ยวหมู่บ้าน คุณมีโอกาสที่จะเพิ่มพูนความเข้าใจเกี่ยวกับชาวเขา สถานการณ์และวิถีการดำรงชีวิตของพวกเขามากขึ้น และเมื่อคุณกลับบ้านคุณก็สามารถที่จะเล่าให้คนอื่นฟังเกี่ยวกับชีวิตของชาวเขาและประสบการณ์ของตัวคุณเองด้วย
การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยชุมชน จึงเป็นการท่องเที่ยวที่ส่งเสริมการอนุรักษ์ทั้งธรรมชาติ สภาพแวดล้อม วัฒนธรรมและประเพณีเปิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างเป็นธรรมชาติและสร้างความเข้าใจระหว่างผู้มาเยือนกับชุมชนท้องถิ่น และไม่ทำให้คนในแหล่งท่องเที่ยวรู้สึกด้อยและถูกปฏิบัติเหมือนเป็นของเล่นเป็นการประชาสัมพันธ์งานทางวัฒนธรรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกทั้งยังเป็นการช่วยสร้างกำลังใจและเสริมศักยภาพให้กับชุมชนในการรักษาการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน นอกจากนี้การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ยังสร้างการยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคลและวัฒนธรรม
Last Updated (Wednesday, 21 April 2010 09:41)